สถานการณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกวันนี้ คงไม่มีเรื่องใดได้รับความสนใจมากไปกว่าการระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สอีกแล้ว เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสตัวล่าสุดที่กำลังมีการระบาดกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศเกาหลีใต้ และล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สคนแรกในประเทศไทยแล้ว…
โรคเมอร์ส (Mers) คืออะไร
โรคเมอร์ส (Mers : Middle East Respiratory Syndrome) คือโรคระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรนา (Corona Virus) หรือที่เรียกว่า เชื้อไวรัสเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV) หรือ EMC/2012 (HCoV-EMC/2012) เนื่องจากพบการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2012 เดิมทีเดียวไวรัสสายพันธุ์โคโรนานี้มักพบในสัตว์จำพวกค้างคาวบางชนิดและอูฐที่เลี้ยงกันมากทางตะวันออกลางที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ต่อมาพบว่าเจ้าไวรัสมรณะนี้ได้พัฒนาสายพันธุ์ตัวเองให้สามารถกระจายมาสู่คน และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ในที่สุด

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ตะวันออกกลาง ต้นเหตุของการเกิดโรคเมอร์ส
การระบาดของเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คนนั้น ตรวจพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ.2555) ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นชายวัย 60 ซึ่งต่อมาเสียชีวิตด้วยอาการปอดอักเสบและไตวาย จากนั้นเชื้อไวรัสเมอร์สได้ระบาดลุกลามอย่างรวดเร็วในประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆในตะวันออกกลาง และการะจายสู่ประเทศต่างๆทั่วโลกในปัจจุบัน เชื้อไวรัสโคโรน่าต้นเหตุของโรคเมอร์สนี้ มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS : Severe Acute Respiratory Syndrome) แต่มีอาการที่รุนแรงกว่า
หมายเหตุ บางครั้งจะเรียกไวรัสตัวนี้ว่า “เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ตะวันออกกลาง” และโรคเมอร์ส บางครั้งเรียกว่า “โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง”
ข้อมูลทางพันธุศาสตร์ของไวรัสเมอร์ส
Group : Group IV ((+)ssRNA)
Order : Nidovirales
Family : Coronaviridae
Subfamily : Coronavirinae
Genus : Betacoronavirus
Species : MERS-CoV

ภาพไวรัสเมอร์สแบบ 3 มิติ
อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส/ผู้ป่วยโรคเมอร์ส
อาการเบื้องต้นของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเมอร์สนั้นจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด กล่าวคือจะมีอาการไอ จาม มีไข้สูง และหอบเหนื่อย อาจะมีอาการท้องเสียและอาเจียนร่วมด้วย จากนั้นจะมีอาการรุนแรงขึ้นเช่น ปอดอักเสบ ไตวาย และระบบการหายใจล้มเหลว จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นผู้ที่มีภาวะเสี่ยง เช่น เพิ่งเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาด สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ถ้ามีอาการคล้ายเป็นหวัด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคทันที

ผู้ป่วยโรคเมอร์ส มักมีอาการระยะแรกคล้ายการเป็นหวัด
ระยะฟักตัวของไวรัส
เชื้อไวรัสเมอร์สจะมีระยะฟักตัวราว 14 วัน ก่อนที่จะแสดงอาการป่วย ในบางรายพบว่าไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น จึงกลายเป็นพาหะนำโรคและแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว
การติดต่อหรือแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเมอร์ส
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าเชื้อไวรัสนี้กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างไร แต่พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมดังนี้
– ผู้ที่เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด
– ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสเมอร์สในตัวหรือผู้เป็นพาหะ
– ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อไวรัสในตัว
– บุคคลากรทางการแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยเมอร์ส

อูฐ หนึ่งในสัตว์ที่เป็นพาหะของไวรัสโคโรน่าต้นเหตุของโรคเมอร์ส
วิธีรักษาผู้ติดเชื้อโรคเมอร์ส
ปัจจุบันยังไม่มียา วัคซีน หรือเครื่องมือใดๆที่จะสามารถรักษาอาการโรคจากไวรัสเมอร์สได้โดยตรง จึงทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก (ราว 30% ของผู้ป่วย) การรักษานั้นแพทย์จะทำการรักษาตามอาการและประคองอาการเท่านั้น ดังนั้นใครที่มีภาวะเสี่ยง ควรหมั่นสังเกตุตัวเอง ถ้ามีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกันตัวจากเชื้อไวรัสเมอร์ส
เนื่องจากยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง ดังนั้นควรป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสตัวนี้ให้มากที่สุด ดังนี้
– หลีกเลี่ยงเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการระบาด
– ผู้ที่ทำการใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควรสวมหน้ากากอนามัย
– ไม่เข้าไปอยู่ใกล้หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
– หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหวัดหรือมีอาการคล้ายหวัด
– หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดพลุกพล่าน
– หมั่นสังเกตุคนใกล้ชิดและคนในครอบครัว ถ้ามีอาการน่าสงสัย ให้พาไปพบแพทย์ทันที
– หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
– รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ
– ล้างมือบ่อยๆ

ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด
ประเทศที่พบการระบาดของโรคเมอร์ส ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อแล้วใน 20 ประเทศ ดังนี้ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน คูเวต อียิปต์ ตุรกี อัลจีเรีย อินโดนีเซีย ออสเตรีย จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทย (วันที่ 18 มิถุนายน 2558 มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ เป็นชายชาวโอมาน อายุ 75 ปี ที่เพิ่งเดินทางเข้ามายังประเทศไทย)

ประเทศที่มีการแพร่กระจายของโรคเมอร์ส
สถานการณ์โรคเมอร์สในประเทศไทย
11 ก.พ. 2559
ผู้ป่วยโรคเมอร์สรายที่สองของไทย อาการดีขึ้นมากจนเกือบเป็นปกติแล้ว สามารถหายใจได้เองและไม่พบเชื้อในการตรวจครั้งล่าสุด ซึ่งต้องรอผลการตรวจซ้ำอีกครั้ง ถ้าไม่พบเชื้อก็แสดงว่าหายแล้ว สามารถเดินทางกลับบ้านได้
24 ม.ค. 2559
น.พ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงยืนยันว่าพบผู้ป่วยโรคเมอร์สรายที่ 2 ในประเทศไทย โดยเป็นชายชาวโอมานวัย 71 ปี ซึ่งเดินทางเข้ามายังประเทศไทยพร้อมลูกชายเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2559 แต่เนื่องจากยังเป็นระยะฟักตัวของโรค เครื่อง Thermoscan ที่สนามบินสุวรรณภูมิจึงไม่สามารถตรวจจับได้ แต่ผู้ป่วยมีอาการขณะเดินทางไปโรงแรมที่พัก จึงรีบเดินทางไปโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยโรงพยาบาลตรวจพบเชื้อเมอร์ส จึงตรวจซ้ำโดยสถาบันบำราศนราดูรและผลตรวจออกมาตรงกัน จึงย้ายผู้ป่วยเข้าห้องแยกโรค ณ สถาบันบำราศนราดูร ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 23 มกราคม และในขณะเดียวกันก็ได้รวบรวมรายชื่อผู้สัมผัสและเสี่ยงต่อโรคจำนวน 37 คน เพื่อเฝ้าระวังต่อไป
21 ก.ค. 2558
กระทรวงสาธารณสุขแถลงยืนยันว่าผลการตรวจผู้ป่วยต้องสงสัยที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง ไม่ได้ป่วยเป็นโรคเมอร์สแต่อย่างใด เป็นเพียงไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A ซึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเท่านั้น ทั้งนี้ผู้ป่วยชายอายุ 27 ปีผู้นี้มีอาการไข้สูง ไอรุนแรง และมีอาการถ่ายเหลว หลังจากได้พบปะกับเพื่อนที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีลักษณะอาการคล้ายอาการของการติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ทางโรงพยาบาลจึงได้นำผู้ป่วยคนดังกล่าวเข้าพักในห้องคัดแยกโรคเพื่อตรวจสอบ แต่ไม่พบเชื้อไวรัสเมอร์ส
4 ก.ค. 2558
กระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ประกาศไทยเป็นประเทศปลอดโรคเมอร์สแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยรายเดียว (ชายชาวโอมาน) หายป่วยจากโรคเมอร์สแล้ว ส่วนผู้ที่ถูกเฝ้าระวังก็พ้นระยะเฝ้าระวังโดยไม่พบอาการป่วย พร้อมทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้ถอดประเทศไทยออกจากประเทศที่มีการระบาดของไวรัสเมอร์สแล้ว
3 ก.ค. 2558
ผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกและรายเดียวของไทยหายจากอาการป่วยแล้ว โดยที่ขณะนี้ได้ออกจากสถาบันบำราศนราดูรแล้ววันนี้ เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับประเทศโอมานต่อไป
29 มิ.ย. 2558
กระทรวงสาธารณสุขรายงานความคืบหน้าของผู้ป่วยเมอร์สชาวโอมานว่ามีอาการดีขึ้นมาก สามารถหายใจได้เอง รับประทานอาหารได้เอง และคาดว่าจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายในเดือนหน้า
28 มิ.ย. 2558
อาการผู้ป่วยชาวโอมานที่รักษาอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร พบว่ามีอาการดีขึ้นตามลำดับ รับประทานอาหารได้เอง ปวดอักเสบลดลง ระดับเชื้อไวรัสลดลง คาดว่าจะหายเป็นปกติได้เร็วๆนี้
28 มิ.ย. 2558
ผลการตรวจเด็ก ป.5 ในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ต้องสงสัยจะติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ปรากฎว่าเป็นเพียงเชื้อไข้หวัดธรรมดา ทำให้สามารถกลับมาเปิดเรียนตามปกติในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายนนี้
27 มิ.ย. 2558
โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ถูกสั่งปิดอย่างไม่มีกำหนด เมื่อพบว่ามีเด็กคนหนึ่งมีอาการป่วยหลังจากเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ในขณะที่สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ได้นำเด็กคนดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและคัดกรองโรคเมอร์สแล้ว
26 มิ.ย. 2558
ผลการรักษาผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกของไทย ที่พักรักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร พบว่ามีอาการดีขึ้นมาก หายใจได้เองมากขึ้น รับประทานอาหารได้เอง ผลการเอกซเรย์ปอดปกติดี คาดว่าจะหายเป็นปกติเร็วๆนี้ ส่วนญาติใกล้ชิดอีก 3 คนที่เดินทางมาด้วยกัน พบว่ามีอาการปกติทุกราย
24 มิ.ย. 2558
ผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกและรายเดียวของไทยในขณะนี้ ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร มีอาการดีขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติม
23 มิ.ย. 2558
สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์รายงานว่าพบผู้ต้องสงสัยจะติดไวรัสโรคเมอร์สอีกหนึ่งคน โดยชายคนดังกล่าวอายุ 33 ปี และเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ได้เชิญชายคนดังกล่าวมาเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและกักกันโรค
23 มิ.ย. 2558
ผลการตรวจผู้ป่วยชาวเชียงใหม่ที่เพิ่งกลับจากประเทศเกาหลีใต้แล้วมีอาการป่วย ปรากฏว่าป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่ได้ป่วยด้วยเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ตะวันออกกลางหรือไวรัสเมอร์ส (MERS-CoV) แต่อย่างใด
22 มิ.ย. 2558
สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่รายงานพบผู้ต้องสงสัยรายใหม่ ที่เพิ่งเดินทางกลับจากเกาหลีใต้แล้วมีอาการไข้และไอ ขณะนี้ได้นำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและกักกันโรค ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ต้องสงสัยรายที่ 7 ของเชียงใหม่ โดยที่ 6 รายแรกไม่มีใครติดเชื้อไวรัสเมอร์ส เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่
22 มิ.ย. 2558
สาธารณสุขจังหวัดราชบุรีรายงานผลการตรวจผู้ป่วยต้องสงสัย ภายหลังเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้แล้วมีอาการไข้ ปรากฏว่าผลออกมาเป็นลบ ซึ่งหมายถึงไม่มีเชื้อไวรัสเมอร์สแต่อย่างใด ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยยังคงที่ที่ 1 คน และมีผู้ที่ถูกกักตัวเพื่อเฝ้าระวังจำนวน 176 คน
21 มิ.ย. 2558
ผลการตรวจซ้ำผู้ต้องสงสัย 3 คนที่โดยสารเครื่องบินมาพร้อมกับชายชาวโอมานที่ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ปรากกว่าไม่พบเชื้อดังกล่าว ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สในประเทศไทยยังคงที่อยู่ที่ 1 คน
20 มิ.ย. 2558
พบตัวหญิงชาวบุรีรัมย์ที่นั่งติดกันบนเครื่องบินกับชายโอมานที่ติดเชื้อไวรัสเมอร์สแล้ว ผลตรวจเบื้องต้นไม่พบอาการไข้ จึงกักตัวไว้สังเกตุอาการ 14 วัน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดจำนวน 3 คน และผู้มีเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคจำนวน 175 คน
20 มิ.ย. 2558
ผู้ป่วยโรคเมอร์สชาวโอมานซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูรมีอาการดีขึ้น อาการปอดอักเสบลดลง รับประทานอาหารอ่อนๆได้เอง ให้อ๊อกซิเจนในปริมาณที่น้อยลงได้แล้ว
20 มิ.ย. 2558
สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์เร่งหาตัวหญิงชาวบุรีรัมย์ซึ่งเดินทางกลับมาประเทศไทยโดยทางเครื่องบินพร้อมกับชายชาวโอมานและครอบครัวที่ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส เบื้องต้นทราบว่าหญิงคนดังกล่าวอาศัยอยู่ใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
20 มิ.ย. 2558
องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวชื่นชมไทยในการรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรนาหรือเชื้อไวรัสเมอร์ส ภายหลังจากการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรก
20 มิ.ย. 2558
กระทรวงสาธารณสุขยืนยันผลการตรวจญาติจำนวน 3 คนของผู้ป่วยเมอร์สรายแรกในไทย ปรากฏว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดธรรมดา ส่วนผู้ต้องสงสัยที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ยืนยันแล้วว่าไม่ใช่ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ทำให้จำนวนผู้ป่วยเมอร์สในประเทศไทยยังคงที่อยู่ที่ 1 คนเท่าเดิม
19 มิ.ย. 2558 พบผู้ต้องสงสัยจะติดเชื้อโรคเมอร์สที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีไข้สูงและมีอาการไอภายหลังเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้
19 มิ.ย. 2558 ชายชาวโอมาน ผู้ป่วยเมอร์สรายแรกในประเทศไทยมีอาการดีขึ้น แต่ยังหายใจเองไม่ได้ มีรายงานว่าญาติของผู้ป่วยที่เดินทางมาด้วยกันจำนวน 3 ราย เริ่มมีอาการป่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
18 มิ.ย. 2558 พบผู้ป่วยโรคไวรัสเมอร์รายแรกในประเทศไทย โดยเป็นชายชาวโอมานซึ่งเดินทางเข้ามายังประเทศไทยพร้อมกับครอบครัว โดยผู้ป่วยรายแรกนี้ได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ทั้งนี้มีผู้ที่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวังอีกจำนวน 66 ราย
18 มิ.ย. 2558 กระทรวงสาธารณสุขของไทยออกประกาศกฏกระทรวงเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้โรคเมอร์สหรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เป็นโรคติดต่อต้องแจ้งความและเป็นโรคติดต่ออันตราย ส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมการป้องกันขั้นสูงสุด
โรคไวรัสเมอร์สนับได้ว่าเป็นโรคติดต่อที่มีความร้ายแรงมาก นับจากการระบาดของโรคซาร์ส (SARS : Severe acute respiratory syndrome) เมื่อหลายปีก่อน เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาโดยตรง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังตนเองไม่ให้รับเชื้อ ถ้าสงสัยในความเสี่ยงของตนควรรีบไปพบแพทย์ มีรายงานทางการแพทย์หลายชิ้นระบุว่าโรคเมอร์สนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่ายนัก แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ควรทำตัวเองให้มีความเสี่ยงต่อการรับโรค อย่างน้อยควรยึดหลัก … ตระหนักแต่ไม่ตระหนก และ ปลอดภัยไว้ก่อนนะครับ ^ ^
-------------- advertisements --------------