ในโลกออนไลน์และอินเตอร์เนตทุกวันนี้ คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่าบิตคอยน์ (Bitcoin) แต่หลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจว่าเจ้าบิตคอยน์มันคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ใครเป็นคนสร้างขึ้นมา มีประโยชน์อะไรบ้าง ใช้ทำอะไรได้บ้างอย่างไร จะหามาครอบครองได้อย่างไร และอีกมากมายหลายร้อยคำถาม วันนี้เราจะมาปลอกเปลือกเจ้าบิตคอยน์ให้ทุกท่านได้ทราบกันอย่างละเอียด…
- Bitcoin คืออะไร
- ประวัติความเป็นมาของ Bitcoin
- เทคโนโลยี Blockchain
- Bitcoin ดีอย่างไร
- Bitcoin นำไปใช้ที่ไหนได้บ้าง
- หา Bitcoin ได้จากที่ไหนบ้าง
- การเก็บรักษา Bitcoin
- ความเสี่ยงของการถือครอง Bitcoin
- คำศัพท์เกี่ยวกับ Bitcoin
- อัพเดทข่าวบิตคอยน์
Bitcoin คืออะไร
บิตคอยน์ (Bitcoin) คือ เงินดิจิตอล (CryptoCurrency) สกุลหนึ่ง ซึ่งมี Market Cap มากที่สุดและได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ทั่วโลก โอนไปมาระหว่างผู้ถือได้รวดเร็วและมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการโอนเงินผ่านธนาคาร หรืออาจะพูดให้ง่าย ๆ ได้ว่า บิตคอยน์คือเงินสกุลใหม่สกุลหนึ่งนั่นเอง แต่เป็นเงินดิจิตอลหรือเงินอิเลคโทรนิกส์ ไม่มีชนิดเหรียญหรือเงินกระดาษแบบที่เราคุ้นเคย ต้องใช้จ่ายผ่าน computing device เช่น คอมพิวเตอร์ มือถือ และแทบเล็ต เท่านั้น
บิตคอยน์นั้นเป็นระบบการเงินที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของระบบ ไม่มีศูนย์กลาง (Decentralize) ไม่มีหน่วยงานใดสามารถเข้ามาปิดกั้น กำกับ หรือเข้ามาชี้นำทิศทางได้ ระบบบิตคอยน์นั้นถูกออกแบบมาให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ โปร่งใส สามารถตรวจสอบทุกธุรกรรมได้ตลอดเวลา และด้วยเทคโนโลยี Blockchain ที่ใช้เก็บธุรกรรมของบิตคอยน์นั้นมีความแข็งแกร่งและความปลอดภัยสูงมาก ทำให้ยังไม่มีใครสามารถเจาะหรือ Hack ระบบบิตคอยน์ได้

มูลค่า Bitcoin Market Cap ณ สิงหาคม 2560
ประวัติความเป็นมาของ Bitcoin
บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาจากอัจฉริยะนิรนามที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครทราบว่าผู้สร้างบิตคอยน์นั้นตัวจริง ๆ เป็นใคร เนื่องจากเจ้าตัวไม่ยอมเปิดเผยตัวตน และหลังจากบิตคอยน์ถูกวางระบบเรียบร้อยและทำงานได้อย่างถูกต้อง เขาก็วางมือและหายไปตั้งแต่ปี 2010 และจากการสร้าง Bitcoin ขึ้นมานี่เอง ทำให้ตัวเขาได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ แต่ตัวเขาเองกลับปฏิเสธการรับรางวัล (พี่จะอินดี้ไปไหน 5555+)
ตัวบิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาและปล่อยตัวซอฟท์แวร์แบบ Open source ออกสู่สาธารณะเมื่อปี ค.ศ.2009 โดยที่บิตคอยน์ถูกสร้างบนหลักการที่ว่า จะเป็นเงินหรือสินทรัพย์ในรูปแบบดิจิตอลที่สามารถใช้ได้จริง สามารถส่งไปมาได้ทั่วโลกโดยอิสระแบบ Peer-to-Peer ไม่มีหน่วยงานของรัฐหรือธนาคารเข้ามาข้องเกี่ยว มีความรวดเร็วในการโอน สามารถจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันได้สะดวก และมีค่าธรรมเนียมการโอนต่ำกว่าการใช้บริการธนาคาร
Satoshi Nakamoto ได้ออกแบบให้บิตคอยน์ทำงานบนเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง เรียกว่าว่าเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นที่รวบรวมธุรกรรมทั้งหมดของการโยกย้ายและยอดเงินคงเหลือของทุกบัญชี (บัญชีบิตคอยน์เราเรียกว่า Bitcoin address) อีกทั้งเขาได้ออกแบบให้บิตคอยน์ที่จะถูกสร้างขึ้นทั้งหมดในโลกมีเพียงแค่ 21 ล้านหน่วยเท่านั้น ไม่มากไปกว่านี้ ซึ่งปัจจุบันมีบิตคอยน์ถูกสร้างหรือขุดขึ้นมาแล้วราว 16.8 ล้านหน่วย ส่วนอีกราว 4.2 ล้านหน่วยจะถูกขุดจนครบในราว ๆ ปี ค.ศ. 2140
และด้วยจำนวนที่มีจำกัดและความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาต่อหน่วยของบิตคอยน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากไม่กี่เซนต์เมื่อตอนเริ่มต้น จนมีราคาเกิน 13,000 ดอลลาร์ต่อบิตคอยน์ (มากกว่า 5 แสนบาท) ในปัจจุบัน
เทคโนโลยี Blockchain
Blockchain คือเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังสกุลเงินดิจิตอลทุกสกุล รวมถึงบิตคอยน์ด้วย บล็อคเชนเป็นเทคโนโลยีที่รวบรวมรายการทำธุรกรรมของบิตคอยน์เอาไว้เป็นกลุ่ม ๆ หรือเอาไว้ในกล่อง ๆ หนึ่ง เมื่อจำนวนธุรกรรมครบตามจำนวนที่กำหนดและธุรกรรมเหล่านั้นถูกยืนยันแล้วว่าถูกต้อง กล่องนั้นก็จะถูกปิดและนำมาวางต่อกันในสาย Blockchain โดยที่ไม่มีใครสามารถกลับมาแก้ไขได้อีก จากนั้นธุรกรรมหรือกล่องต่อ ๆ ไปที่ถูกยืนยันแล้วก็จะถูกนำมาวางต่อกันไปเรื่อย ๆ และนี่คือที่มาของคำว่า Blockchain หรือ สายโซ่ของกล่องธุรกรรม
ในทุกกล่องเก็บข้อมูลธุรกรรม (Block) ที่เก็บต่อเนื่องกันนั้น ยังได้เก็บข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ ในอดีตที่ต่อเนื่องกันเอาไว้ด้วย และเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่รันระบบบิตคอยน์ (Bitcoin node) เครื่องละหนึ่งสำเนา (Copy) เมื่อมีใครพยายามจะแก้ไขข้อมูลใน Blockchain เครื่องอื่น ๆ ในระบบจะรับรู้ทันทีและจะปฏิเสธการแก้ไขนั้นทันทีเช่นกัน ดังนั้นการจะเจาะระบบหรือแฮกค์ระบบบิตคอยน์ จะต้องแก้ไขข้อมูลใน Blockchain ทุก ๆ Block (เพราะข้อมูลมันต่อเนื่องกันหมด) และต้องแก้ข้อมูลใน Bitcoin node ทุกเครื่องในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งยังไม่สามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน (มีหลายคนบอกว่า วันใดที่ Quantum Computer มาถึง วันนั้นอาจจะทำได้ ซึ่งต้องรอดูกันต่อไป)

แผนภูมิการทำงานของ Bitcoin Blockchain
ปัจจุบันเทคโนโลยี Blockchain ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ใช่แค่กับ CryptoCurrency เท่านั้น แต่ถูกนำไปปรับใช้ในด้านอื่น เช่น การเก็บข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ระบบการโอนเงินของธนาคาร อุตสาหกรรมการผลิต ภาคการขนส่ง กิจการประกันภัย การเก็บข้อมูลการรักษาพยาบาลผู้ป่วย และการเก็บข้อมูลการเลือกตั้ง เป็นต้น
Bitcoin ดีอย่างไร
1. ไม่มีศูนย์กลาง ไม่มีเจ้าของ ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
2. ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานใด ๆ ทั้งสิ้น
3. สามารถโอนได้ทั่วโลก (ผ่านอินเตอร์เน็ต) อย่างอิสระและรวดเร็ว แถมมีค่าธรรมเนียมต่ำมาก
4. ได้รับการยอมรับแล้วจากรัฐบาลหลายประเทศและร้านค้าทั่วโลก
5. สามารถเข้าถึงได้ด้วย Computing devices ทุกประเภท ทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ และแทบเล็ต
6. ราคาขึ้นลงตามหลัก Demand/Supply ไม่มีใครกำหนดราคาหรือชี้นำราคาได้
7. เป็นสินทรัพย์ที่กำลังเติบโต และมีโอกาสได้กำไรจากการถือครองสูงมาก (เพียงแค่ 11 เดือนแรกของปี 2560 ราคาบิตคอยน์เพิ่มขึ้นถึง 1100%)
8. สามารถมีบัญชีบิตคอยน์ได้โดยไม่ต้องระบุตัวตน
9. สามารถแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาทได้ง่าย มีเว็บรับแลกจำนวนมาก
10. สามารถฝากถอนเป็นเงินสกุลท้องถิ่นได้ง่าย ผ่านเครื่อง Bitcoin ATM ซึ่งกำลังได้รับการติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

Bitcoin สามารถโอนไปมาได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง
Bitcoin นำไปใช้ที่ไหนได้บ้าง
ในปัจจุบันบิตคอยน์สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ทั่วโลก ตั้งแต่ตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ทางอินเตอร์เน็ต และซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้า เป็นต้น อีกทั้งบิตคอยน์ยังสามารถแลกเป็นเงินสดได้ทั่วโลก แทบทุกสกุลเงิน และยังสามารถฝาก/ถอนเงินสดผ่านเครื่อง Bitcoin ATM ได้ด้วย

Bitcoin สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ทุกทีที่มีสัญญลักษณ์นี้

ร้ายก๋วยเตี๋ยวเก่าแก่ “ลิ้มเหล่าโหงว” รับชำระค่าอาหารด้วยบิตคอยน์
เราจะหา Bitcoin ได้จากที่ไหนบ้าง
โดยปกติเราสามารถเป็นเจ้าของบิตคอยน์ได้ 3 ช่องทางหลัก ๆ ดังนี้
1. การขุดบิตคอยน์
การขุดบิตคอยน์ (Bitcoin mining) เป็นคำที่เราอาจจะได้ยินกันบ่อย ๆ แท้ที่จริงการขุดบิตคอยน์คือการยืนยันธุรกรรมหรือการโอนบิตคอยน์นั่นเอง เนื่องจากว่าระบบบิตคอยน์ไม่มีศูนย์กลาง หรือระบบที่จะยืนยันธุรกรรมเหมือนระบบธนาคาร ดังนั้นจึงต้องอาศัยกลุ่มผู้ใช้งานส่วนหนึ่งที่เรียกว่านักขุด (Miner) เป็นผู้ยืนยันธุรกรรมแทน ทุกธุรกรรมของบิตคอยน์นั้นจะถูกเข้ารหัสด้วยสมการคณิตศาสตร์ชั้นสูงอันซับซ้อน ซึ่งไม่สามารถถอดรหัสได้ด้วยคนหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ธรรมดาทั่วไป แต่ต้องถอดรหัสด้วยเครื่องมือที่สามารถถอดรหัสสมการคณิตศาสตร์ด้วยอัลกอริทึ่ม SHA-256 (SHA-256 Algorithm) ได้เท่านั้น

ตัวอย่างเครื่องขุด Bitcoin แบบ ASIC (Application-specific integrated circuit)
2. การรับชำระสินค้าและบริการด้วยบิตคอยน์
ในปัจจุบันเราสามารถรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบิตคอยน์แทนเงินสดและบัตรเงินสดต่าง ๆ ได้ง่ายและค่าธรรมเนียมไม่แพง บิตคอยน์ที่ได้มาเราสามารถเก็บไว้เพื่อการลงทุนหรือแลกเป็นเงินสดก็ได้เช่นกัน โดยในปัจจุบันมีผู้ให้บริการ หรือ Application สำหรับรับชำระด้วยบิตคอยน์มากมายให้เลือกใช้

Bitcoin เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
3. การซื้อบิตคอยน์จากกระดานซื้อขาย
ปัจจุบันมีเว็บไซต์มากมายทั้งของไทยและต่างประเทศที่ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิตอลอื่น ๆ สามารถแลกเปลี่ยนได้ทั้งเงินบาท เงินดอลลาร์ และเงินสกุลท้องถิ่นอื่น ๆ ได้แทบทุกสกุล ซึ่งสำหรับบุคคลทั่วไป วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับการแลกเปลี่ยนบิตคอยน์เพื่อการลงทุน การจับจ่ายใช้สอย หรือเพื่อการเดินทาง

ตัวอย่างหน้าจอการซื้อขาย Bitcoin
การเก็บรักษา Bitcoin
การเก็บรักษาบิตคอยน์นั้น เราจะเก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิตอล หรือ Wallet โดยที่ในปัจจุบันมี Wallet มากมายหลายชนิดให้เลือกใช้ตามความต้องการ โดยเราสามารถแบ่งประเภทของกระเป๋าเงินบิตคอยน์ออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1. Hot wallet
Hot wallet เป็นการเก็บบิตคอยน์ไว้ในกระเป๋าที่สามารถหยิบออกมาใช้ได้ง่ายและเร็วที่สุด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแฮกค์หรือขโมยด้วยเช่นกัน ตัวอย่างของ Hot wallet เช่น App ในมือถือ หรือ App บน PC ซึ่งเราสามารถใช้จับจ่ายซื้อของได้ง่าย หรือ การเก็บบิตคอยน์ไว้บนเว็บที่ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยน (Trading platform) ก็ถือว่าเป็น Hot wallet ชนิดหนึ่งด้วยเช่นกัน

ตัวอย่าง Bitcoin Hot Wallet บนมือถือ
2. Cold wallet
Cold wallet จะเป็นการเก็บเงินบิตคอยน์แบบ offline ไม่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถมาแฮกค์เอาบิตคอยน์ของเราไปได้ ยกเว้นเราจะทำ cold wallet เหล่านี้หายเอง Cold wallet หรือ Cold storage ที่นิยมใช้คือ Paper wallet ดังนั้นการเก็บรักษา Wallet ชนิดนี้ในที่ปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก (อย่าให้เมียรู้ที่เก็บเด็ดขาด … แฮ่ๆ)

ตัวอย่าง Bitcoin Paper Wallet
3. Hardware wallet
Hardware wallet คือการเก็บบิตคอยน์ไว้ในอุปกรณ์เล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ผ่านช่อง USB ซึ่งนับว่าเป็นอุปกรณ์หรือวิธีเก็บที่มีความปลอดภัยมาก เนื่องจากเราจะเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เมื่อต้องการใช้เงินเท่านั้น และยังมีรหัสที่ต้องป้อนที่ตัวอุปกรณ์ทุกครั้งก่อนใช้ด้วย (ในทางเทคนิค บิตคอยน์จะถูกเก็บไว้บน Blockchain เท่านั้น อุปกรณ์ Hardware wallet นี้ จึงทำหน้าที่เพียงเก็บ Private key ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเรียกข้อมูลล่าสุดและการทำธุรกรรมของบิตคอยน์ – เช่นเดียวกับ Paper wallet และ Software wallet)

ตัวอย่าง Bitcoin Hardware Wallet
4. Software wallet
Software wallet คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง ที่เราต้องติดตั้งลงเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์มือถือ โดยที่เราสามารถจัดการเงินในบัญชีต่าง ๆ ได้โดยอิสระ โปรแกรมเหล่านี้มักถูกเข้ารหัสชั้นสูง ยากต่อการเจาะระบบ แต่เราจำเป็นต้องเก็บรักษา Private key และ Seed keys ไว้ในที่ปลอดภัย เพราะถ้าคอมพิวเตอร์พังหรือต้องเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ใหม่ เราสามารถเรียกคืนข้อมูลในบัญชีทั้งหมดได้ด้วย Private key หรือ Seed keys นั้น แต่ถ้า private key หรือ seed keys หาย ทุกอย่างก็จะหายไปตลอดกาลเช่นกัน

Electrum – Bitcoin software wallet ยอดนิยม
ความเสี่ยงของการถือครอง Bitcoin
บิตคอยน์ถือว่าเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่มีประโยชน์และข้อดีมากมาย แต่ก็มีความเสี่ยงและข้อควรระวังในการใช้และการรักษาบัญชีด้วยเช่นกัน ดังนี้
1. Bitcoin ยังมีความผันผวนของราคาสูง
2. ถึงแม้หลายประเทศจะประกาศรับรองให้ถูกกฏหมายแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และอีกหลายๆประเทศ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ประกาศยอมรับว่าเป็นสกุลเงิน ๆ หนึ่ง โดยประกาศให้เป็นสินทรัพย์ทางดิจิตอล (Digital Asset) ชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ใช้งานหรือมีไว้ในครอบครองจะต้องเก็บรักษาให้ดีด้วยตัวเอง
3. ต้องเก็บรักษา Private key / Seed key เอาไว้ในที่ที่ปลอดภัยที่สุดเพื่อป้องกันการขโมยเงินในบัญชี
4. ถ้าเกิดการสูญหาย ตำรวจจะติดตามให้เราไม่ได้ เพราะทุกคนสามารถเป็นเจ้าของบัญชีบิตคอยน์ได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน
5. เนื่องจากราคาของบิตคอยน์มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นเป้าหมายของอาชญากรที่อาจแฝงมาในรูปของแฮกเกอร์ มัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือการอ้าง/ชักชวน ให้ลงทุนกับบิตคอยน์ในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น

ตู้ ATM สำหรับฝาก/ถอน Bitcoin เริ่มพบเห็นได้ทั่วไป
คำศัพท์เกี่ยวกับ Bitcoin
– Digital currency หรือ CryptoCurrency หมายถึง เงินในรูปแบบดิจิตอล ไม่ใช่เงินกระดาษหรือเงินเหรียญในแบบที่เราคุ้นเคย
– Blockchain หมายถึง เทคโนโลยีในการเก็บรวบรวมธุรกรรมทุกชนิดของบิตคอยน์ รวมถึงยอดเงินคงเหลือของแต่ละบัญชี
– Bitcoin Address หมายถึง บัญชีบิตคอยน์ ซึ่งเปรียบเสมือนบัญชีธนาคารที่เราคุ้นเคยกันดี
– Mining หมายถึง การขุด หรือการช่วยยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การโอนเงิน เป็นต้น
– Miner หมายถึง ผู้ขุด หรือ ผู้ใช้งาน Bitcoin ส่วนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่รันระบบช่วยการยืนยันธุรกรรม โดยจะได้รับ Bitcoin จำนวนหนึ่งเป็นค่าตอบแทน (การเกิดใหม่ของเหรียญบิตคอย์เกิดจากตรงนี้เท่านั้น ไม่มีใครสามารถเสกบิตคอยน์ขึ้นมาแบบลอย ๆ ได้ ดังนั้นอย่าหลงเชื่อผู้ที่บอกว่าสามารถสร้างบิตคอยน์ขึ้นมาให้เราได้โดยเด็ดขาด!!)
– Seed key หมายถึง รหัสแบบสุ่มสำหรับการเรียกคืนข้อมูลในบัญชีบิตคอยน์ ประกอบไปด้วยคำภาษาอังกฤษจำนวน 12 หรือ 24 คำ เมื่อมีการเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์สูญหาย เราสามารถเรียกคืนข้อมูลในบัญชีทั้งหมดคืนมาได้ด้วย Seed key นี้ ดังนั้นจึงควรเก็บ Seed key ไว้ในที่ปลอดภัยที่สุดและไม่ควรเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ใด ๆ ด้วย
– Private key หมายถึง กุญแจหรือรหัสส่วนตัวของบัญชีของเรา ซึ่งจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเข้ารหัสเมื่อมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น และเรายังสามารถเรียกคืนบัญชีบิตคอยน์ของเราได้ด้วย Private key นี้ ดังนั้นจึงเก็บรักษา Private key ไว้ในที่ปลอดภัยที่สุดเช่นเดียวกับ Seed key
– Wallet หมายถึง กระเป๋าเงิน Digital มีไว้สำหรับเก็บเงินดิจิตอลของเรา โดยอาจจะเก็บเพียงสกุลเดียวหรือหลายสกุลก็ได้ Wallet นี้เปรียบได้กับกระเป๋าเงินของเรานั่นแหละ โดยที่เราสามารถเอาไว้เก็บเงินบาทอย่างเดียวหรือเก็บเงินสกุลอื่น ๆ เช่น ดอลลาร์หรือยูโรด้วยก็ได้ เป็นต้น
– Decentralize หมายถึง ระบบที่ไม่มีศูนย์กลาง ไม่มีใครเป็นเจ้าของระบบ และไม่ถูกควบคุมจากหน่วยงานใด ๆ แต่ระบบจะถูกวางโปรแกรมให้ทำงานไว้แล้วอย่างเป็นระบบแบบแผน และทุกส่วนของระบบนั่นเองจะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของระบบเอง มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ทุกเวลา
– Block หมายถึง กล่องเก็บข้อมูล หรือ ชุดข้อมูลธุรกรรมบิตคอยน์ที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าถูกต้อง และจะนำมาวางต่อ ๆ กันไปในสาย Blockchain
– Trading platform หมายถึง เว็บไซต์ที่ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิตอล มีให้บริการทั้งการแลกเปลี่ยนบิตคอยน์เป็นเงินบาท และเงินดิจิตัลสกุลอื่น ๆ ต้องการเยี่ยมชมเว็บเทรดอันดับ 1 ของโลก กรุณากดที่นี่
ถึงแม้ Bitcoin จะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ราคาพุ่งขึ้นมาหลายร้อยเท่าในเวลาไม่กี่ปี แต่ควรให้ศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนที่จะใช้บริการหรือเข้าลงทุน เพราะการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยงเสมอครับ ^ ^
อัพเดทข่าวบิตคอยน์
1 สิงหาคม 2017 – กลุ่มผู้ใช้ Bitcoin กลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจการอัพเดทระบบบิตคอยน์แบบ BIP 91 ซึ่งเป็น User Activated Soft Fork (UASF) ได้ทำการ Hard fork สาย Blockchain ของบิตคอยน์ออกไปเป็นเหรียญตัวใหม่ชื่อว่า Bitcoin Cash (BCC/BCH) โดยผู้ที่ถือเหรียญบิตคอยน์ไว้ก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2017 จะได้รับเหรียญ Bitcoin Cash ในจำนวนเท่ากัน
24 สิงหาคม 2017 – Segwit (BIP141) Locked-in and activated การอัพเกรดระบบ Bitcoin แบบ Segwit ได้ locked-in สำเร็จ และเริ่มมีผลใช้งาน ซึ่งจะส่งผลให้การโอน Bitcoin เร็วขึ้นและค่าธรรมเนียมถูกลง และเป็นการเตรียมตัวเพื่อรองรับ Lightning network ในอนาคตด้วย
29 สิงหาคม 2017 – บิตคอยน์ทำสถิติราคาสูงสุดครั้งใหม่ที่ 4,703.21 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบิตคอยน์
2 กันยายน 2017 – ราคาบิตคอยน์ทะลุ 5,000 ดอลล่าร์เป็นครั้งแรก
20 ตุลาคม 2017 – ราคาบิตคอยน์ทำสถิติใหม่ทะลุ 6,000 ดอลล่าร์ หรือกว่า 200,000 บาทต่อหนึ่งบิตคอยน์เป็นครั้งแรก
24 ตุลาคม 2017 – มีการ Hard fork สาย Blockchain ของ Bitcoin ออกมาเป็นเหรียญตัวใหม่ที่ชื่อว่า Bitcoin Gold (BTG) ซึ่งผู้ถือครองบิตคอยน์ที่มี Private key และหรือเก็บบิตคอยน์ไว้บนกระดานซื้อขายบางแห่ง จะได้รับ Bitcoin Gold ไปฟรี ๆ ในจำนวนเท่ากับจำนวนบิตคอยน์ที่ถือครองก่อนที่มีการ Hard Fork
2 พฤศจิกายน 2017 – ราคาบิตคอยน์ทำสถิติใหม่ทะลุ 7,000 ดอลล่าร์ต่อหนึ่งบิตคอยน์ ทำให้นักลงทุนเทขาย Alt Coin เพื่อมาลงทุนในบิตคอยน์เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาของ Alt Coin ตัวอื่น ๆ ร่วงลงอย่างหนัก
17 พฤศจิกายน 207 – การ Hard fork ด้วย Segwit2x ล้มเหลว เนื่องจาก Code การคำนวน Block ผิดพลาด ส่งผลให้ไม่มีการขุด Block เกิดขึ้น และยังตรวจพบ bugs จำนวนมากใน Source code
28 พฤศจิกายน 2017 – Bitcoin ทำสถิติใหม่ ราคาทะลุ 10,000 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบิตคอยน์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ส่วนในประเทศไทย ราคาซื้อขายอยู่ที่ 320,000 บาทต่อบิตคอยน์
6 ธันวาคม 2560 – ราคาบิตคอยน์ทะลุ 12,000 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบิตคอยน์ หรือกว่า 400,000 บาทไทยเป็นครั้งแรก
8 ธันวาคม 2560 – ราคาบิตคอยน์ทะลุ $16,000/BTC หรือกว่า 600,000 บาทต่อบิตคอยน์
17 ธันวาคม 2560 – ราคาบิตคอยน์ทำสถิติใหม่ ทะลุ $20,000/BTC เป็นครั้งแรก ส่วนเมืองซื้อขายกันสูงสุดที่ 649,997 บาท/BTC
18 ธันวาคม 2560 – CBOE (Cboe Global Markets) ได้เปิดการซื้อขาย Bitcoin futures เป็นครั้งแรก
22 ธันวาคม 2560 – ราคาบิตคอยน์ร่วงลงอย่างหนักเหลือต่ำกว่า $12,000/BTC หลังจากขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่กว่า $20,000/BTC เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นถึงราคาที่ร่วงลงอย่างหนักว่า สาเหตุมาจากการที่ราคาถูกดันให้ขึ้นสูงเร็วเกินไปและนักลงทุนบางส่วนขายทำกำไรออกมาเนื่องจากวันหยุดยาวช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
3 มกราคา 2561 – ราคาบิตคอยน์ฟื้นตัวขึ้นมายืนเหนือ $15,000/BTC ได้อีกครั้ง หลังจากปรับฐานอย่างรุนแรงไปเมื่อช่วงก่อนปีใหม่
5 มกราคม 2561 – ราคา Ethereum (ETH) เหรียญอันดับ 2 ของโลกรองจากบิตคอยน์ สามารถทำราคาทะลุหลักไมล์สำคัญที่ $1,000/ETH ได้สำเร็จ
10 มกราคา 2561 – Kodak อดีตผูผลิตกล้องและฟิล์มชื่อดัง ประกาศเปิดบริการเหมืองขุดบิตคอยน์ พร้อมเปิดตัวเหรียญคริปโตของตัวเองชื่อ KodakCoin ข่าวนี้สร้างความสนใจให้กับนักลงทุนจำนวนมาก ทำให้หุ้นของบริษัทมีราคากระโดดขึ้นมากกว่า 100% ในทันที
16 มกราคม 2561 – มีข่าวว่าทางการจีนจะแบนการซื้อขายเงินดิจิตอลทุกประเภท ทำให้ราคาบิตคอยน์และเหรียญดิจิตอลอื่น ๆ ตกอย่างรุนแรง
พฤศจิกายน 2561 – เกิดความขัดแย้งอย่างหนักในชุมชน Bitcoin Cash ทำให้เกิดการ Hardfork ออกมาเป็นเหรียญใหม่ชื่อ Bitcoin Cash SV (BSV, Bitcoin Satoshi Vision) ส่งผลให้เหรียญดิจิตอลทุกเหรียญตกอย่างรุนแรง โดยบิตคอยน์ราคาตกลงมาต่ำกว่า $4,000 หรือ 120,000 บาท ในขณะที่เหรียญอื่นก็ทำนิวโลวของปี 2018 กันถ้วนหน้า
8 มกราคม 2564 – ราคา bitcoin พุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ (All time high) ที่ $42,000 / เหรียญ หรือมากกว่า 1,200,000 บาทต่อบิตคอยน์
*** สำหรับท่านที่ศึกษามาอย่างดีแล้วและต้องการซื้อขาย หรือศึกษาระบบซื้อขายบิตคอยน์ เชิญที่นี่ ได้เลยครับ ***
————————————————————————
-------------- advertisements --------------