สารบัญและหมวดหมู่
- งูในประเทศไทย
- งูมีพิษในประเทศไทย
- งูไม่มีพิษในประเทศไทย
- เมื่อถูกงูกัดต้องทำอย่างไร
- วิธีป้องกันการไม่ให้โดนงูกัด
งูในประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้นและมีฝนชุกชุม ต้นไม้ใบหญ้าและสัตว์สามารถเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดี และแน่นอนว่าสัตว์เหล่านี้ เช่น หนู กบ เขียน และคางคก เป็นอาหารสุดวิเศษของเหล่างูทั้งหลายด้วย นอกจากจะมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ บ้านเรายังมีป่าไม้และต้นไม้ให้งูได้อาศัยหลบซ่อนตัวและขยายพันธุ์ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมประเทศไทยของเราจึงมีงูอาศัยอยู่ชุกชุมมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง
งูในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้ 2 ประเภท คือ งูมีพิษและงูไม่มีพิษ ซึ่งงูที่มีพิษนั้นมีอยู่ไม่กี่ชนิด ในขณะที่งูไม่มีพิษนั้นสามารถพบได้จำนวนมากกว่า และมีหลายหลายสายพันธุ์ (ในประเทศไทยพบงูประมาณ 300 สายพันธุ์ เป็นงูไม่มีพิษ 90%)
งูมีพิษในประเทศไทย
งูมีพิษในประเทศไทยนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 7 สายพันธุ์หลักดังนี้
1. งูจงอาง
งูจงอาง เป็นงูมีพิษขนาดใหญ่ ขนาดลำตัวยาว 3-5 เมตร มีพิษร้ายแรงและปริมาณน้ำพิษมาก สามารถกัดคนและสัตว์ทุกชนิดให้ตายได้ในเวลาไม่กี่นาที งูจงอางสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ของไทย (คนใต้เรียกงูจงอางว่า บองหลา) และเป็นงูประเภทกินงูด้วยกันเป็นอาหาร

งูจงอาง งูพิษขนาดใหญ่ มีพิษร้ายแรงมาก
2. งูเห่า
เป็นงูขนาดกลาง ความยาว 1-2 เมตร ปริมาณน้ำพิษน้อยแต่มีพิษร้ายแรงมาก โดยพิษจะเข้าไปทำลายระบบประสาท ผู้ถูกกัดจะมีอาการง่วงซึม อยากหลับ ถ้าหลับก็จะไม่ตื่นอีกเลย ผู้ที่ถูกงูเห่ากัดถ้าไม่ได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องและไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว มักจะเสียชีวิตทุกราย งูเห่าเป็นงูที่พบได้ทั่วไปทั่วประเทศ
3. งูสามเหลี่ยม
งูสามเหลี่ยม หรือ งูทับทางเหลือง เป็นงูพิษที่พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ลำตัวยาว 1-2 เมตร ลำตัวมีลักษณะท้องแบนและเป็นสันด้านหลัง ทำให้มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ) พบมากในภาคใต้ของไทย (ภาคอื่นพบบ้างแต่ไม่มากนัก) กินสัตว์เล็ก ๆ พวก นก หนู กบ เขียด เป็นอาหาร
4. งูแมวเซา
เป็นงูพิษชนิดหนึ่ง ลักษณะลำตัวอ้วนป้อม ลำตัวสั้น (เมื่อโตเต็มที่จะยาวเพียง 1-1.5 เมตร) เมื่ออยู่ในลักษณะตื่นตัวมันจะสูบลมเข้าไปจนลำตัวพอง ทำเสียงร้องเหมือนแมวและส่งเสียงขู่ตลอดเวลา สามารถฉกกัดได้เร็วมาก ผู้ถูกกัดจะมีอาการเลือดไม่แข็งตัวและเลือดไหลไม่หยุด เกิดอาการไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิต งูแมวเซาสามารถพบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย
5. งูกะปะ
งูกะปะเป็นงูพิษที่พบได้ทุกภาคของไทย โดยเฉพาะในภาคใต้ มีลำตัวอ้วนสั้น คอเล็กแต่หัวโต เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 1 เมตรเท่านั้น กินสัตว์เล็ก ๆ พวกนห หนู กบ เขียน เป็นอาหาร จัดเป็นงูที่มีพิษร้ายแรงที่สุดของไทย ผู้ที่ถูกกัดจะเกิดอาการบวมไปทั้งตัว เลือดไหลไม่หยุด บริเวณที่ถูกกัดจะบวมเขียวและเน่า และเสียชีวิตในที่สุด
6. งูเขียวหางไหม้
งูเขียวหางไหม้ (Green pit viper) จัดเป็นงูพิษชนิดไม่รุนแรง กัดแล้วไม่ตาย พบได้ทั่วไปและมีหลายสายพันธุ์ในประเทศไทย มีลำตัวอวบสั้น ผิวลำตัวมีสีเขียวอมเหลือง หางสีแดงจนถึงน้ำตาลเข้ม (เป็นที่มาของชื่อ) เป็นงูที่เคลื่อนไหวช้า มีนิสัยดุร้ายฉกกัดได้เร็ว ผู้ถูกกัดจะเจ็บปวดที่แผลมาก มีอาการบวมอยู่ 2-5 วัน จากนั้นแผลจะยุบและหายเป็นปกติ
7. งูทะเล
งูทะเลเป็นกลุ่มงูที่อาศัยอยู่ในทะเล กินปลาเป็นอาหาร และแทบทุกชนิดเป็นงูพิษ สามารถพบได้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย งูทะเลที่พบมากในประเทศไทยคือ งูสมิงทะเลปากดำ ซึ่งเป็นงูทะเลที่มีพิษร้ายแรงมาก พบผู้กัดเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ งูทะเลประเภทอื่น ๆ ที่พบในประเทศไทย เช่น งูผ้าขี้ริ้ว งูคออ่อน งูแสม งูฝักมะรุม งูชายธง
งูไม่มีพิษในประเทศไทย
งูไม่มีพิษในประเทศไทยนั้นมีอยู่มากมายประมาณ 300 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก็ไม่กัดหรือทำอันตรายคน แต่บางสายพันธุ์ก็กัดได้ถ้าถูกรบกวน ตัวอย่างงูไม่ไมีพิษในประเทศไทยได้แก่ งูเขียวชนิดต่างๆ งูปากจิ้งจก งูงวงช้าง งูสิง งูแส้หางม้า งูกระด้าง งูปลิง งูแสงอาทิตย์ งูลายสาบ งูดิน งูก้นขบ งูปล้องชนิดต่าง ๆ งูทางมะพร้าว งูกินปลา งูเหลือม และงูหลาม เป็นต้น
+ ขอบคุณภาพจาก siamensis.org
เมื่อถูกงูกัดต้องทำอย่างไร
ถึงแม้ว่างูในประเทศไทยจะเป็นงูไม่มีพิษเสียเป็นส่วนใหญ่ มีงูพิษอยู่ไม่กี่ชนิด แต่ถ้าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงู ย่อมต้องระมัดระวังเรื่องการโดนงูกัด แต่เมื่อโดนงูกัด สิ่งที่ต้องทำมีดังนี้
1. รีบหางูที่กัดให้เจอ จำเป็นต้องตีให้ตายไว้ก่อนเพื่อนำไปให้แพทย์ดู
2. เค้นเลือดบริเวณที่โดนกัด ให้เลือดจากแผนถูกกัดออกมามากที่สุด (ห้ามใช้ปาดดูดเด็ดขาด)
3. ใช้ผ้าหรือเชือกรัดเหนือแผลที่ถูกกัด เพื่อชะลอไม่ให้พิษแล่นเข้าสู่หัวใจ
4. รีบพาผู้ถูกกัดไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และพยายามไม่ให้ผู้ถูกกัดหลับ
5. ห้ามให้ผู้ถูกกัดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้พิษแล่นเข้าสู่หัวใจเร็วขึ้น
วิธีป้องกันการไม่ให้โดนงูกัด
1. หลีกเลี่ยงการเดินไปที่รกทึบและมืด ถ้าจำเป็นให้ใช้ไม้ยาว ๆ เคาะนำไปก่อน
2. หมั่นตัดหญ้าในบริเวณบ้านให้สั้นเตียน เนื่องจากงูไม่ชอบอยู่ในที่โล่ง
3. นำตาข่ายมาปิดช่องระบายน้ำ เพื่อป้องกันหนูออกมาจากท่อ หนูจะเป็นตัวล่อให้งูเข้าบ้านได้ง่าย
4. ถ้าจำเป็นต้องเข้าป่าหรือที่รกทึบ ให้ใส่รองเท้าหนาๆ และหลีกเลี่ยงการยึดจับต้นไม้ กองใบไม้หรือเนินดิน
โดยธรรมชาติของงูแทบทุกชนิดนั้น จะเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบเผชิญหน้ากับคน มักจะคอยเลื้อยหนีอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายทำให้เขาตกใจหรือเดินไปเหยียบงูเข้า งูจะฉกกัดทันที ซึ่งเป็นสัญชาตญาณการป้องกันตัวของงูนั่นเอง
-------------- advertisements --------------